กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค

กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค

                เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบระบบยาชองโรงพยาบาลตั้งแต่การจัดหา การจัดเก็บการกำหนดนโยบายด้านการใช้ยา การบริหารยา รวมไปถึงงานคุ้มครองผู้บริโภค
                ปัจจุบันมีเภสัชกรปฏิบัติงานจำนวน 9 คน เจ้าพนักงานเภสัชกรรมจำนวน 5 คน และพนักงานประจำห้องยาจำนวน 3 คน รวม 17 คน เปิดให้บริการตั้งแต่ 08.30-00.30 น. โดยมีเภสัชกรเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้อง ประเมินความเหมาะสม ส่งมอบยาและให้คำแนะนำการใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย ขอบเขตการทำงานของกลุ่มงานเภสัชกรรมสามารถแบ่งได้ดังภาพ

งานบริการผู้ป่วยนอก

มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยมีเภสัชกรเป็นผู้ทบทวนและตรวจสอบความถูกต้องของรายการยาที่แพทย์สั่งใช้ นำส่งยา ให้คำแนะนำในการรับประทานยา รวมถึงทบทวนการใช้ยาเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานยาได้ถูกต้อง เป็นไปตามแผนการรักษา

นอกจากนั้นเภสัชกรจะไปประจำที่คลินิกโรคเรื้อรัง  ตามตารางการให้บริการของทางโรงพยาบาล เพื่อประเมินความร่วมมือและปัญหาจากการใช้ยาของคนไข้ รวมไปถึงส่งต่อข้อมูลให้กับแพทย์เพื่อใช้ประกอบการการรักษา

งานบริการผู้ป่วยใน

มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างเหมาะสมตามคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ มีการส่งต่อข้อมูลประวัติยาเดิมของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์พิจารณาสั่งใช้ยาหรือป้องกันการสั่งใช้ยาซ้ำซ้อนกัน มีเภสัชกรเป็นผู้ทบทวนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ตรวจสอบยาก่อนนำส่งให้ทางพยาบาลบริหารยาได้อย่างถูกชนิด ขนาด วิธีใช้ ถูกคนและถูกเวลา โดยมีระบบการจ่ายยาแบบ One Day Dose  นอกจากนั้นเภสัชกรยังมีทบาทในการร่วมประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และทบทวนการใช้ยาเทคนิคพิเศษต่าง ๆ

งานบริหารเวชภัณฑ

แบ่งเป็น 2 ส่วนคือการจัดซื้อจัดหาเวชภัณฑ์ การบริหารคลังยาและสารน้ำ

1. การจัดซื้อจัดหาเวชภัณฑ์ เภสัชกรจะเป็นผู้วางแผนการจัดซื้อ
ดำเนินการขออนุมัติจัดซื้อ กำหนดคุณลักษณะของยาเวชภัณฑ์ คัดเลือกผู้จำหน่าย ตรวจรับยาและเวชภัณฑ์ โดยต้องควบคุมการจัดซื้อให้มีปริมาณยาและเวชภัณฑ์เพียงพอต่อความต้องการใช้ จากนั้นจึงส่งมอบยาและเวชภัณฑ์เข้าสู่งานบริหารคลังยา โดยรายการยาที่จะนำมาใช้ในโรงพยาบาล จะมีคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (PTC) เป็นผู้กำหนด

 

2. งานบริหารคลังยาและสารน้ำ มีหน้าที่ตรวจสอบยาและเวชภัณฑ์ก่อนนำเข้าสู่คลัง เก็บรักษาภายใต้มาตรฐานที่กำหนด ตรวจนับและทำบัญชีควบคุมจำนวนให้เป็นปัจจุบันพร้อมรายงานปริมาณยาและเวชภัณฑ์คงคลัง ควบคุมการเบิกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ไปยังส่วนต่าง ๆ ได้แก่ คลังยาย่อย คลังสารน้ำ คลังยาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ทั้ง 13 รพ.สต. และคลังยาวัคซีน

     

งานบริการปฐมภูมิ

เภสัชกรจะออกไปแต่ละรพ.สต.พร้อมแพทย์ตามกำหนดการออกตรวจผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของยา นำส่งยา และให้คำแนะนำการใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงการให้ความรู้เรื่องยาแก่เจ้าหน้าที่ประจำรพ.สต. และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

งานคุ้มครองผู้บริโภค

เภสัชกรออกตรวจสอบสถานประกอบการในชุมชน เช่น ร้านขายของชำ ร้านยา คลินิก ร้านอาหาร ตลาดสด รถเร่ เป็นต้น โดยออกทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงออกให้ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแก่คนในชุมชน เช่น อาหารปนเปื้อน สิทธิของผู้บริโภค เป็นต้น

งานวิชาการอื่น ๆ

– การประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction: ADR)
– งานบริการเภสัชสนเทศ (Drug Information Service : DIS)
– งานนโยบายส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Rational Drug Use : RDU)
– การประเมินการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Drug Use Evaluation : DUE)

 

ติดต่องานเภสัชกรรม
โทร 038-531-444 ต่อ 307 หรือ 308  (8.30-16.30 น.) หรือ 120 (8.30-00.30 น.)