สาวคลั่งผอมระวัง !! พบโฆษณาชวนเชื่อผลิตภัณฑ์อ้างลดอ้วน แนะอยากผอมต้องเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม

อย. เตือนสาวคลั่งผอมพึงระวัง !! พบการโฆษณาชวนเชื่อผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก “แมรรี่ เพรียว”   (Marry Peaw) อ้างสรรพคุณเกินจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แสดงข้อความโฆษณาขายยา แต่ไม่มีการขออนุญาตการโฆษณาให้ถูกต้องและไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เตือนภัยผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำกล่าวอ้างสรรพคุณดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย แนะผู้บริโภคอยากผอมควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมเตือนผู้ขายยาลดความอ้วนผ่านสื่อทุกช่องทาง ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีทันที

          นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ “แมรรี่ เพรียว” (Marry Peaw) ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาอ้างสรรพคุณเกินจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นั้น อย. รุดตรวจสอบข้อเท็จจริงพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักทางเฟซบุ๊ก ชื่อ “ผู้หญิงอย่าหยุดสวย อยาก ผอม ทักมา” ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊กเป็น “จี๊ดถึงจัย มะนาวหวาน https://www.facebook.com/veeranuch.singsatit แสดงข้อความในทำนองช่วยลดน้ำหนัก ตอบโจทย์ทุกปัญหา “ความอ้วน”… เปลี่ยนหุ่นเสียให้เป็นหุ่นสวย ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตและโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ มีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และ อย. ได้สั่งระงับการโฆษณาแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาให้ถูกต้องกับ อย. มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเตือนภัยสาวอยากผอมพึงระวัง อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อคารมการโฆษณาจากผู้ขายโดยเด็ดขาด นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดลงแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย โดยยาลดความอ้วนส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ลดความอยากอาหาร เป็นยาที่กระตุ้นประสาทส่วนกลาง การใช้จะทำให้น้ำหนักลดลงได้ขณะรับประทานยา แต่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อหยุดยา หรือที่เรียกว่า yo-yo effect และผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่พบบ่อย คือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ตาพร่า หากใช้ติดต่อกันนาน อาจทำให้ติดยาได้ ดังนั้น การใช้ยาเพื่อลดความอ้วน ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตราย ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

           รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ที่อยากหุ่นสวยดูมีน้ำมีนวล ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและควบคุมอาหาร ไม่กินอาหารพร่ำเพรื่อ ไม่กินจุบกินจิบ ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมเตือนผู้ขายยาลดความอ้วนผ่านสื่อทุกช่องทาง ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีทันที หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ดาวน์โหลดเอกสารแนบที่นี่

ประชาสัมพันธ์ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา และข้อความของคำเตือน ฉบับที่ 63 (ยาที่มีส่วนผสมของฟ้าทะลายโจร)

กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศ เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา และข้อความของคำเตือน ฉบับที่ 63 ณ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561 ดังนี้

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (66) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคําเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกํากับยาและข้อความของคําเตือน ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคําเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกํากับยาและข้อความของคําเตือน ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

“(66) ยาที่มีส่วนประกอบของ ฟ้าทะลายโจร
คําเตือนในฉลาก และเอกสารกํากับยา
1. ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
2. ห้ามใช้ในผู้ที่เคยแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่น ปากบวม ตาบวม หน้าบวม
3. หากใช้ยานี้แล้วมีผื่น ปากบวม ตาบวม หน้าบวม ให้หยุดยาทันที และพบแพทย์
คําเตือนในเอกสารกํากับยา
4. หากใช้ติดต่อกันเกิน 3 วัน แล้วไม่ดีขึ้น หรืออาการรุนแรงขึ้น ระหว่างการใช้ยา
ควรหยุดใช้ และพบแพทย์
5. หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทําให้แขนขามีอาการอ่อนแรง”

ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 89 ง วันที่ 19 เมษายน 2561 หน้า 6)

กดที่นี่เพื่ออ่านรายละเอียด/download เอกสาร

สสจ.ฉะเชิงเทรา ประชุมคณะอนุกรรมการสถานพยาบาลประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 5/2561

วันที่ 20 เมษายน 2561 กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ร่วมกับ กลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ และกลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ออกตรวจมาตรฐานสถานพยาบาล โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา ประกอบการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล โดยมี นพ.ธวัชชัย วานิชกร ผู้อำนวยการใหญ่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ความร่มมือและอำนวยความสะดวกในการตรวจมาตรฐาน โดยการตรวจมาตรฐานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัย

สสจ.ฉะเชิงเทรา ออกตรวจมาตรฐานสถานพยาบาล

วันที่ 20 เมษายน 2561 เวลา 09.00 น. กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ร่วมกับ กลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ และกลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับอำนวยการมอบหมายจาก นพ.ปรารถนา ประสงค์ดี นพ.สสจ.ฉะเชิงเทรา ได้ออกตรวจมาตรฐานสถานพยาบาล ณ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา เพื่อประกอบการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล โดยมี นพ.ธวัชชัย วานิชกร ผู้อำนวยการใหญ่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการตรวจมาตรฐาน โดยการตรวจมาตรฐานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัย

ข่าว กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค ฯ สสจ.ฉะเชิงเทรา
ภาพ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สสจ.ฉะเชิงเทรา

อย.ย้ำ! อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์อาหารอ้างลดอ้วน และเครื่องสำอาง โฆษณาเกินจริงทางสื่อออนไลน์ เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

UploadImage

ยังไม่หยุด พบอีกแล้วผลิตภัณฑ์โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักผิดกฎหมายหลายยี่ห้อทางสื่อออนไลน์ ซึ่ง อย. เคยแจ้งเตือนไปแล้ว เพราะบางยี่ห้อตรวจพบสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารที่มีอันตรายมีผลข้างเคียงสูง ขอย้ำเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อหวั่นผลข้างเคียงถึงชีวิต

นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อหนึ่งทางเว็บไซต์ ซึ่งมีการโฆษณาว่า สามารถทำให้ผอมได้อย่างรวดเร็ว อย.จึงได้ดำเนินการตรวจสอบ เฟซบุ๊กชื่อ Lishou Cr รวมถึงเว็บไซต์ http://www.thaishopnow.com พบผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ลิโซ่, ลิด้า,   Baschi Quick Slimming Capsule และกาแฟลิโซ่ โฆษณาในการช่วย   ลดน้ำหนัก ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้ล้วนเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต หลอกลวงโอ้อวดเกินจริง นอกจากนี้ ยังพบการโฆษณาเครื่องสำอาง ยี่ห้อ บาชิ และบาชิโกล์ด ระบุข้อความโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด   ในสาระสำคัญของเครื่องสำอาง ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลรายงานในระบบแจ้งเตือนภัยพบว่า ผลิตภัณฑ์ลิโซ่และ Baschi Quick Slimming Capsule เคยถูกตรวจพบสารไซบูทรามีน รวมทั้งพบสารห้ามใช้กรดเรทิโนอิกในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบาชิด้วย ซึ่ง อย.ได้เคยแจ้งเตือนไปแล้ว เมื่อปี 2557 และปี 2560

รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาบริโภคอย่างเด็ดขาด เพราะผลิตภัณฑ์ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ส่วนใหญ่มักตรวจพบว่า มีส่วนผสมของไซบูทรามีน ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับในประเทศไทย ยาดังกล่าวมีอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น ผลข้างเคียงจากการใช้ยา คือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และหากได้รับยาในปริมาณมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนกรดเรทิโนอิก ทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง เกิดการอักเสบ ผิวหน้าลอกอย่างรุนแรง และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างโฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านทางช่องทางสื่อต่าง ๆ สามารถร้องเรียนได้ที่     สายด่วน อย. 1556 หรือ อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

อย.ย้ำ! อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์อาหารอ้างลดอ้วน และเครื่องสำอาง โฆษณาเกินจริงทางสื่อออนไลน์ เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

ประชาสัมพันธ์ กฎหมายโฆษณาสถานพยาบาลฉบับใหม่ ขจัดภัยโฆษณาเวอร์ หลอกลวงประชาชน

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คลอดประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล” มีผลบังคับใช้แล้ว การโฆษณาหรือประกาศที่เกี่ยวกับสถานพยาบาลเอกชน จะต้องได้รับการอนุมัติก่อนจึงเผยแพร่ได้ ขจัดภัยโฆษณาเวอร์ หลอกลวงประชาชน

แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เพื่อป้องปรามการกระทำผิด ขจัดภัยโฆษณาโอ้อวดเกินจริง และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการในด้านระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย ตามที่มุ่งหวัง กรม สบส.จึงได้ออกประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล” โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การโฆษณาหรือประกาศที่เกี่ยวกับสถานพยาบาลเอกชนจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้อนุญาตก่อนจึงเผยแพร่ได้ โดยประกาศฉบับนี้ ได้นิยามให้ การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆให้ประชาชน เห็น ได้ยิน หรือทราบ ข้อความ เสียง หรือภาพ เพื่อประโยชนทางการค้า  เป็นการ “โฆษณาหรือประกาศ” ต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาตก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ แต่หากเป็นการโฆษณาหรือประกาศซึ่งชื่อและสถานที่ตั้งสถานพยาบาล หรือการแสดงรายละเอียดตามที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 กำหนดให้แสดง ณ สถานพยาบาล ไม่ต้องขออนุมัติ

ทั้งนี้ การโฆษณาหรือประกาศที่เผยแพร่ก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะต้องยื่นเรื่องขออนุมัติภายใน 90 วัน (1 พฤษภาคม 2561) โดยเมื่อยื่นเรื่องขออนุมัติแล้ว อนุโลมให้โฆษณาต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งผลการพิจารณา แต่การโฆษณาดังกล่าวนั้นต้องไม่เข้าข่ายเป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล

ด้าน นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ตามประกาศกรม สบส.ฉบับนี้ได้กำหนดให้การโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 คือ การโฆษณาหรือประกาศฯ ซึ่งชื่อ คุณวุฒิ หรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพ, บริการทางการแพทย์, อัตราค่ารักษาพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์, การให้ส่วนลดเพื่ออนุเคราะห์บุคคลด้อยโอกาส หรือสมาชิก, การแจ้งข่าวสาร เช่น การทำลายเวชระเบียน ย้ายสถานที่ กิจกรรมสำคัญในวันต่างๆ และการแจ้งวัน เวลา ที่ให้บริการตามที่ได้รับอนุญาต
และประเภทที่ 2 คือ การโฆษณาหรือประกาศนอกเหนือจากประเภทที่ 1 อาทิ การให้ส่วนลด หรือการจัดโปรโมชั่นแก่ผู้รับบริการทั่วไป

โดยการขออนุมัติจะต้องยื่นคำขอต่อผู้อนุญาต พร้อมด้วยข้อความ เสียงหรือภาพที่ใช้ในการโฆษณาหรือประกาศ หากทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศต้องจัดทำคำแปลภาษาไทย ที่ผ่านการรับรองคำแปลจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่ดำเนินธุรกิจการแปลเอกสารที่ได้มาตรฐานสากลประกอบด้วย ซึ่งการพิจารณาอนุมัติโฆษณาหรือประกาศทั้ง 2 ประเภทผู้อนุญาตจะมีการพิจารณาอนุมัติหรือไม่ เมื่อได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ดี กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด หากพบว่าผู้ใดมีการเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศของสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุมัติ จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา หรือหากมีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา

 DOWNLOAD

อย.ประกาศผลตรวจพิสูจน์ผลิตภัณฑ์อาหาร ฉบับที่ 10 (โปรสลินวิตามิน แขน – ขา) เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องผลการตรวจพิสูจน์อาหาร บริษัท ซีเครท ไวท์ จำกัด  (โปรสลินวิตามิน แขน – ขา) ปรากฎว่า ตรวจพบยาแผนปัจจุบัน เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเห็นควรประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารให้ประชาชนทราบ

UploadImage