หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล (คลินิก/โรงพยาบาลเอกชน)

ขณะนี้กฎหมายว่าด้วยการโฆษณาคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ขอความร่วมมือคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งโปรดศึกษาหลักเกณฑ์การขออนุญาตโฆษณาสถานพยาบาลและโปรดดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน

อย. ยกระดับไซบูทรามีนเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ฝ่าฝืนโทษหนักขึ้น จำคุกสูงสุดถึง 20 ปี และปรับถึง 2 ล้านบาท

อย. ยกระดับไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 เอาโทษถึงที่สุด หากผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท – 2 ล้านบาท หากขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท – 2 ล้านบาท รวมถึงการครอบครองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดด้วย

        วันนี้ (24 พฤษภาคม 2561) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทว่า จากกรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   ที่มีการลักลอบใส่ไซบูทรามีนและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยไซบูทรามีน (Sibutramine) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารและส่งผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ ปี 2553 ทางประเทศในยุโรปจึงประกาศยกเลิกไม่ให้ใช้ยานี้ รวมทั้งในประเทศไทยได้มีการเรียกเก็บยาที่มีสารไซบูทรามีนออกจากท้องตลาดและยกเลิกทะเบียนยาไซบูทรามีน แต่ปัจจุบันผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยังแอบเจือปนสารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อหวังลดน้ำหนัก ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ผู้ใดผลิต จำหน่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมายังพบการลักลอบใส่สารไซบูทรามีนในหลายผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงเสนอคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยกระดับไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559  ซึ่งหากผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท – 2 ล้านบาท หากขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท – 2 ล้านบาท รวมถึงการครอบครองผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดด้วย

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน หรือมีผลในทางยา ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของยา ซึ่งผู้ใช้อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานั้น  จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากผู้บริโภคต้องการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและควบคุมอาหาร รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หากผู้บริโภคต้องการใช้ยาลดความอ้วนจะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจส่งผลกระทบ กับสุขภาพและชีวิต การใช้ยาลดความอ้วนไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วนได้ เมื่อหยุดยาไประยะหนึ่งแล้วจะทำให้น้ำหนักกลับมาเพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า YO – YO Effect หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

ดาวน์โหลดเอกสารแนบที่นี่

สสจ.ฉะเชิงเทรา ตรวจสอบเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง

วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 น. พนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย สาธารณสุขอำเภอบ้านโพธิ์ ได้รับอำนวยการมอบหมายจาก นพ.ปรารถนา ประสงค์ดี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ในพื้นที่อำเภอบ้านโพธิ์ และในเวลา 14.00 น. ทางกลุ่มงานฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ในพื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ผลการตรวจสอบไม่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ที่ผลิตจาก บริษัท เมจิกสกิน และผลิตภัณฑ์ลีน ตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ แต่พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีเลขจดแจ้ง และไม่แสดงที่อยู่ผู้ผลิต โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตักเตือนและให้เก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทันที พร้อมกำชับไม่ให้มีการจำหน่ายอีก หากพบว่ามีการจำหน่ายอีกครั้งจะดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับผู้จำหน่ายในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนนำเข้ามาจำหน่ายอีกด้วย โดยผู้จำหน่ายหรือผู้บริโภคสามารถตรวจสอบความถูกต้องของเลขสารบบอาหาร หรือเลขที่จดแจ้งเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ได้ที่เวบไซต์ อย. หรือโทร 1556 หรือที่เวบไซต์ของกลุ่มงานฯ http://www.govesite.com/fda8riew โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้จำหน่ายทุกร้าน ซึ่งทางกลุ่มงานฯ มีแผนการดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างต่อเนื่องต่อไป

สสจ.ฉะเชิงเทรา ต้อนรับ สสจ.สิงห์บุรี ศึกษาดูงานด้านสถานที่ผลิตอาหารต้นแบบระดับประเทศ

วันที่ 8 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมศรีสุนทร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา นายเลิศชาย เลิศวุฒิ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับอำนวยการมอบหมาย จาก นพ.ปรารถนา ประสงค์ดี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา ต้อนรับคณะศึกษาดูงาน จาก สสจ.สิงห์บุรี นำโดยหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี และผู้ประกอบการสถานที่ผลิตอาหารจากจังหวัดสิงห์บุรี มาศึกษาดูงานสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับรางวัลต้นแบบระดับประเทศ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ สถานที่ผลิตอาหาร ลอดช่องแม่วงษ์ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากน้ำโจ้โล้ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสถานที่ผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้นต่อไป

ข่าว กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ สสจ.ฉะเชิงเทรา
ภาพ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สสจ.ฉะเชิงเทรา

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง สั่งให้ระงับการกระทำฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง (เครื่องสำอาง เมจิก สกิน)

ดาวน์โหลดเอกสารแนบที่นี่

ประชาสัมพันธ์ : อย. เผยผลดำเนินการกรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Lyn ลีน

อย. เผยผลพิสูจน์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน “ลีน เอฟเอส-ทรี” และ“ลีน บล้อค เบิร์น เบรก บิวท์ ”ลักลอบใส่ยาแผนปัจจุบัน บิซาโคดิลและไซบูทรามีน เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อย่าซื้อมาบริโภคอาจได้รับผลข้างเคียงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่ากรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “Lyn ลีน” นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ สสจ.ชลบุรีและตำรวจ สภ.เมืองชลบุรี ได้เข้าตรวจสอบพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสถานที่จำหน่ายและแบ่งบรรจุอาหาร ณ บ้านเลขที่ 109/8-9 หมู่ที่ 3 ถนนพระยาสัจจา ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี โดยฉลากผลิตภัณฑ์ระบุ “ลีน เอฟเอส-ทรี” (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) Lyn FS-Three (Dietary supplement product by Pim) เลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0017 ผลิตโดย Food Science Supply Service Co.Ltd. 99/29 หมู่ 2 ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 12160 จัดจำหน่ายโดย Lyn by Pim วันที่ผลิต 10/12/2017 วันหมดอายุ 10/12/2019 ลักษณะแคปซูลสีเขียวในแผงอลูมิเนียมพลาสติก แผงละ 10 แคปซูล ห่อด้วยซองอลูมิเนียมปิดผนึกบรรจุกล่องกระดาษ ผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบยาแผนปัจจุบัน บิซาโคดิล (Bisacodyl) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย และได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ “ลีน บล้อค เบิร์น เบรก บิวท์” Lyn Block Burn Break Build (Dietary supplement product) by Pim ฉลากระบุ เลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0006 ผลิตโดย บริษัท ฟู้ด ซายน์ ซัพพลาย เซอร์วิส จำกัด 99/29 หมู่ 2 ต. สามโคก อ. สามโคก จ. ปทุมธานี จัดจำหน่ายโดย บริษัท เอกอัครินทร์ จำกัด 109/8 หมู่ 3 ถนนพระยาสัจจา ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี Lot.1801 MFG 05-01-18 EXP. 05-01-20 ลักษณะแคปซูลสีขาวในแผงอลูมิเนียมพลาสติก แผงละ 10 แคปซูล ห่อด้วยซองอลูมิเนียมปิดผนึกบรรจุกล่องกระดาษ ผลการตรวจวิเคราะห์พบ ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสมองทำให้อยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้นและในวันที่ 25 เมษายน 2561 อย. ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรื่อง ประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหาร เตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการซื้อและบริโภคอาหารดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการนี้เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และเป็นอาหารที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรืออนามัยของประชาชน ผู้ใดผลิต จำหน่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ อย. ยังได้ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหาร บริษัท ฟู้ด ซายน์ ซัพพลาย เซอร์วิส จำกัด จ.ปทุมธานี โดยสุ่มเก็บตัวอย่างวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทั้งสองรายการส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และขณะเดียวกันได้เข้าตรวจสอบการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “Lyn ลีน” ณ บ้านเลขที่ 109/8 หมู่ 3 ถนนพระยาสัจจา ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ซ้ำซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับกรณีที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 พบผู้ชายอายุ 47 ปี เสียชีวิตที่ จ.ปทุมธานี โดยพี่สาวผู้ตายให้การว่าผู้ตายไม่มีโรคประจำตัว แต่ที่ผ่านมาได้กินยาลดความอ้วนมา 2 เดือน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบผลิตภัณฑ์ Lyn DTOX fS3 (ลีนกล่องสีดำ) ฉลากระบุเลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0017 Lot No.1801 วันที่ผลิต (Mfg.) 05-01-18 วันหมดอายุ (Exp.) 05-04-20 และผลิตภัณฑ์ Lyn BLOCK BURN BREAK BUILD (ลีนกล่องสีขาว) ระบุเลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0006 Lot 1802 วันที่ผลิต (Mfg.) 10-01-2561 วันหมดอายุ (Exp.) 10-01-2563 จึงได้เก็บผลิตภัณฑ์ลีนทั้งสองรายการที่พบภายในห้องผู้ตายไปตรวจสอบว่ามีสารอันตรายหรือไม่ สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ และในวันเดียวกันนี้เจ้าหน้าที่จาก อย. สสจ.ปทุมธานี ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้สนธิกำลังร่วมกันตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อหาข้อมูลและพยานหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้าง ลดความอ้วนมักลักลอบใส่สารไซบูทรามีนซึ่งเป็นอันตรายและมีผลข้างเคียงร้ายแรง ขอย้ำว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากผู้บริโภคต้องการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและควบคุมอาหาร ไม่ทานอาหารพร่ำเพรื่อ ควรเลือกรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรส หวาน มัน เค็ม รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หากผู้บริโภคต้องการใช้ยาลดความอ้วนจะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจส่งผลกระทบกับสุขภาพและชีวิต การใช้ยาลดความอ้วนไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วนได้ เมื่อหยุดยาไประยะหนึ่งแล้ว จะทำให้น้ำหนักกลับมาเพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า YO – YO Effect หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

ดาวน์โหลดเอกสารแนบที่นี่