การใช้ยา “อย่างปลอดภัย”


” ยา ” แม้สามารถใช้รักษาทำให้หายป่วยและร่างกายรู้สึกดีขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้เสมอคือ ยาทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีอันตรายเฉกเช่นเดียวกับที่มีคุณประโยชน์ ฉะนั้น ทำอย่างไรจึงปลอดภัยจากการใช้ยา…

” ประโยชน์ของยา “ มาจากฤทธิ์ของยาตามวัตถุประสงค์ที่ใช้ เช่น ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยรักษาการติดเชื้อ บรรเทาอาการปวดหรือลดไข้ ซึ่งทราบได้จากสรรพคุณหรือข้อบ่งใช้ของแต่ละตัวยา

” อันตรายจากยา “ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นกัน เริ่มจากอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงของยา ซึ่งมีทั้งที่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับหรือง่วงนอน จนกระทั่งรุนแรงถึงแก่ชีวิต เช่น การทำลายตับ หรือทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก เป็นต้น อันตรายจากยายังอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น เช่น เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างยาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ( drug interaction ) ปฏิกิริยาระหว่างยากับอาหาร เครื่องดื่ม หรืออาหารเสริม (เช่น วิตามิน หรือ สมุนไพร) ที่รับประทานระหว่างการใช้ยา โดยอาจส่งผลให้ยาที่รับประทานบางชนิดมีประสิทธิภาพลดลงหรือออกฤทธิ์รุนแรงเกินไป เกิดผลข้างเคียงนอกเหนือความคาดหมาย หรืออาจเกิดสารเคมีตัวใหม่ที่มีอันตรายสูง

แม้ว่า การใช้ยามีอันตรายควบคู่ไปกับคุณประโยชน์ก็ตาม แต่ท่านสามารถที่จะปฏิบัติตนเพื่อ ลดอันตรายจากการใช้ยาได้อย่างไม่ยาก ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจะคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับ การใช้ ” ยา ” อย่างปลอดภัย คือ การทำให้ความเสี่ยงจากการใช้ยาลดลงและได้รับประโยชน์จากยาสูงสุด มี 5 ประการ ได้แก่
1. คุยกับแพทย์ เภสัชกร บอกเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่านเองให้มากที่สุด เช่น
– ท่านมีประวัติการแพ้ยาอะไรหรือไม่
– รับประทานยาหรืออาหารเสริมอื่นๆ อยู่หรือไม่ อะไรบ้าง
– ข้อจำกัดบางประการต่อใช้ยา (เช่น มีปัญหาการกลืนยา หรือ ต้องทำงานกับเครื่องจักรที่เป็นอันตรายไม่สามารถทานยาที่ทำให้ง่วงได้)
– อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร (กรณีของผู้หญิง)
นอกจากนั้นหากท่านสงสัยหรือไม่เข้าใจเรื่องอะไร ควรสอบถามให้ละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาอย่างผิดๆ
2. ทำความรู้จักยาที่ใช้ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย หรือที่ซื้อเองจากร้านขายยา เช่น
– ชื่อสามัญทางยา เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำซ้อน และได้รับยาเกินขนาด
– ชื่อทางการค้าของยา
– ลักษณะทางกายภาพของยา เช่น สี กลิ่น รูปร่าง เป็นต้น เมื่อสภาพของยาเปลี่ยนแปลงไป เช่น สีเปลี่ยนไป ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าว เพราะอาจก่อให้เกิด อันตรายได้
– ข้อกำหนดการใช้ยา เช่น รับประทานอย่างไร เวลาใด จำนวนเท่าไร และควรรับประทานนานแค่ไหน
– ภายใต้สถานการณ์ใด ที่ควรหยุดใช้ยาทันที
– ผลข้างเคียงของยาหรือปฏิกิริยาของยาที่ควรระวัง
3. อ่านฉลากยาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
– ทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับยาจากฉลากยา ควรอ่านฉลากยาอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนการใช้ยา เพื่อความมั่นใจว่ารับประทานยาถูกต้อง หากไม่เข้าใจประการ ใดควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกรหรือผู้เชี่ยวชาญ
– เก็บยาในที่ที่เหมาะสมตามที่ระบุในฉลาก
– ห้ามเก็บยาต่างชนิดกันในภาชนะเดียวกัน และไม่ควรเก็บยาสำหรับใช้ภายในและ ยาสำหรับใช้ภายนอกไว้ใกล้เคียงกัน
4. หลีกเลี่ยงการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา
– ระลึกถึง และหลีกเลี่ยงอย่างเคร่งครัด ต่อการรับประทานยา อาหารหรือเครื่องดื่มที่ ทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาที่รับประทาน ซึ่งทำให้เกิดผลเบี่ยงเบนการออกฤทธิ์และ เพิ่มอันตรายจากยาได้
– หากเป็นไปได้ ทุกครั้งที่ท่านต้องมีการรับประทานยาใหม่ๆ เพิ่มเติม ควรได้นำยาเดิมที่ รับประทานอยู่ไปแสดงให้แพทย์ หรือเภสัชกร ได้ตรวจสอบให้ด้วยว่า มียาใดที่ซ้ำซ้อน หรือทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างกันได้ เพื่อที่จะได้จัดยาให้ร่วมรับประทานได้เหมาะสม
5. สังเกตตัวเองต่อผลของยาและอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
– สังเกตว่าผลของยาเป็นไปตามแผนการใช้ยาหรือไม่ หากไม่เป็นเช่นนั้น ควรไปหา แพทย์ หรือเภสัชกรอีกครั้ง เพื่อประเมินและปรับการรักษา
– ให้ความสำคัญกับอาการต่างๆ ของร่างกาย หากมีสิ่งใดผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
– สอบถามล่วงหน้าว่า ควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา หรือสอบถามข้อมูลบางอย่างเพื่อลดอาการข้างเคียง เช่น ควรรับประทานยาหลัง รับประทานอาหารทันทีเพื่อลดอาการปวดท้อง

ที่สำคัญ ท่านควรระลึกไว้เสมอว่า การที่ท่านมีส่วนร่วมกับแพทย์ เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติตามวิธีที่ถูกต้องในการใช้ยาของตัวท่านเองอย่างใกล้ชิด จะทำให้ท่านมีความปลอดภัยในการใช้ยามากยิ่งขึ้น และนำมาสู่ความสำเร็จในการรักษาโรค

 

ที่มา : มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพนมสารคาม
โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ของเราด้านล่างหากต้องการความช่วยเหลือ
ส่งข้อความได้ที่นี่