มารู้จักภาวะไข้กันเถอะ


ภาวะไข้เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นโดยทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ สิ่งที่เป็นสาเหตุของไข้ส่วนใหญ่มักได้แก่ การติดเชื้อ การบาดเจ็บของร่างกาย การใช้ยาบางชนิด หรือโรคบางอย่าง

#อุณหภูมิร่างกายปกติในแต่ละวัย
1. ทารก 36.1-37.7 ⁰C
2. เด็ก 37-37.6 ⁰C
3. ผู้ใหญ่ 36.5-37.5 ⁰C
4. ผู้สูงอายุ 36-36.9 ⁰C

#ตำแหน่งวัดไข้ต่างกันก็แปลผลได้ต่างกัน
โดยปกติแล้วเด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีตำแหน่งวัดไข้ทีเหมาะสมแตกต่างกัน อีกทั้งตำแหน่งที่วัดก็ให้ความแม่นยำที่แตกต่างกันด้วยค่ะ
– ทางทวาร เป็นตำแหน่งที่แม่นยำที่สุดในเด็กทุกช่วงอายุ เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่สามารถอมปรอทวัดไข้ได้
o ค่าปกติ 36.6-37.9๐C
o มีไข้ ≥ 38๐C
– ทางปาก เป็นตำแหน่งที่แม่นยำ เหมาะกับเด็กอายุมากกว่า 4-5ปี ที่สามารถอมปรอทวัดไข้ได้แล้ว
o ค่าปกติ 35.5-37.5๐C
o มีไข้ ≥ 37.6๐C
– ทางรักแร้ เป็นตำแหน่งที่แม่นยำน้อยกว่าทางปากหรือทวารหนัก เหมาะกับกรณีที่เด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 3เดือน หรือเด็กที่ไม่สามารถอมปรอทวัดไข้ใต้ลิ้นได้
o ค่าปกติ 34.7-37.3๐C
o มีไข้ ≥ 37.4๐C
– ทางหูหรือหน้าผาก เป็นตำแหน่งที่แม่นยำน้อยกว่าทางปากหรือทวารหนักเช่นกัน แต่เป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบัน เพราะใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว มักใช้ในกรณีที่ต้องการยืนยันผลจากวิธีอื่นๆ
o ค่าปกติ 35.7-37.7๐C
o มีไข้ ≥ 37.8๐C

#ระดับความรุนแรงของไข้
1. ไข้ต่ำ (Low Grade Fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 37.0 – 38.9⁰C
2. ไข้ปานกลาง (Medium Grade Fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 38.9 – 39.5⁰C
3. ไข้สูง (High Grade Fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 39.5 – 40.4⁰C
4. ไข้สูงมาก (Hyperpyrexia) มีอุณหภูมิมากกว่า 41⁰C

#วิธีการดูแลเมื่อเป็นไข้
1. ใช้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน แอสไพริน เป็นต้น ยาพาราเซตามอล สามารถให้ได้ทุก 4-6 ชม. ขนาดยาให้ตามน้ำหนักตัว ส่วน ไอบูโพรเฟนใช้กรณีไข้สูงและให้ทุก 6 ชม. ระวังการใช้ยาเมื่อมีความเสี่ยงเกิดไข้เลือดออก ส่วนแอสไพรินไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18ปี
2. ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ในเด็กที่มีไข้จะไม่รู้สึกอยากอาหารไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทานอาหารแต่อาจให้ดื่มนมบ่อยขึ้นแทน
3. นอนพัก เพราะการทำกิจกรรมจะเพิ่มอุณหภูมิร่างกายได้
4. อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท ใส่เสื้อผ้าโปร่ง สวมใส่สบาย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหนาๆ เพื่อระบายความร้อน

#วิธีการเช็ดตัวลดไข้
การเช็ดตัวลดไข้ เป็นกระบวนการนำความร้อนออกจากร่างกายสู้ผ้าเปียกที่ใช้เช็ดตัว โดยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นให้เปียกเช็ดถูตามส่วนต่างๆของร่างกายร่วมกับการประคบผิวหนังบริเวณที่เป็นจุดรวมของหลอดเลือดขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง เช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่างๆ เพื่อช่วยให้ถ่ายเทความร้อนจากหลอดเลือดสู่ผิวหนัง และสู่ผ้าเปียกตามลำดับ
1. เตรียมเครื่องใช้ ได้แก่
– อ่างน้ำ 1 ใบใส่น้ำอุ่นประมาณ 2 ลิตร (ความร้อนของน้ำควรจะอุ่นกว่าอุณหภูมิห้อง เย็นกว่าร่างกายเด็ก)
– ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก 3 ผืน
– ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน
– เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้
2. ถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้หมด
3. ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดถูที่ผิวหนัง น้ำอุ่นจะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ความร้อนถูกระบายออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น
– ใช้ผ้าชุบน้ำผืนที่ 1 เช็ดบริเวณหน้าและพักผ้าไว้บริเวณซอกคอและหลังหู .
– ผ้าผืนที่ 2 เช็ดบริเวณแขนโดยเริ่มจากปลายแขน เช็ดแขนเข้าหาลำตัวและพักผ้าไว้บริเวณรักแร้
– ผ้าผืนที่ 3 เช็ดแขนอีกข้างและพักผ้าไว้บริเวณรักแร้ เปลี่ยนผ้าบริเวณซอกคอ ชุบน้ำบิดหมาดๆเช็ดบริเวณหน้าผากและศีรษะ พักผ้าไว้บริเวณหน้าผาก
– เปลี่ยนผ้าบริเวณรักแร้ ชุบน้ำบิดหมาดๆเช็ดบริเวณลำตัว พักผ้าไว้บริเวณหัวใจและขาหนีบ
– เปลี่ยนผ้าบริเวณหน้าผากและขาหนีบ ชุบน้ำบิดหมาดๆเช็ดขาโดยเริ่มจากปลายเท้า เช็ดขาและพักไว้บริเวณข้อเข่าและขาหนีบทั้งสองข้าง
– หลังจากนั้นให้พลิกตะแคงตัวเด็ก ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆเช็ดด้านหลังตั้งแต่คอจนถึงก้นกบ
– เช็ดหลายๆครั้ง หากน้ำในอ่างน้ำเย็นลงก็ให้เปลี่ยนน้ำอุ่นใหม่ เช็ดเหมือนเดิมจนครบ 15-20 นาที จนรู้สึกว่าร่างกายเด็กเย็นลงกับมือ เช็ดตัวเด็กให้แห้งและสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไข้ลดเร็ว
หลังเช็ดตัวเสร็จ 30 นาที วัดอุณหภูมิซ้ำด้วยปรอทวัดไข้ เมื่อไข้กลับขึ้นสูงก็เช็ดซ้ำอีกครั้ง

 

 

ที่มา : FB บ้านยายิ้ม (ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพนมสารคาม
โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ของเราด้านล่างหากต้องการความช่วยเหลือ
ส่งข้อความได้ที่นี่