“Facebook Like” 5 มิถุนายน 2561

“สมุนไพร 3 ต.”

กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีสาระดีๆ เกี่ยวกับ “สมุนไพร” มาฝาก นะคะ ขอนำเสนอเรื่อง “สมุนไพร 3 ต.” กันค่ะ
คนไทยนิยมใช้สมุนไพรในการรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วยมาเป็นเวลานาน จนสั่งสมเป็น ภูมิปัญญาของท้องถิ่นต่างๆ ที่มีคุณค่าหลายด้าน บทบาทของสมุนไพรจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ยารักษาโรค แต่ยังเป็นอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องประทินผิวเพื่อความสวยงามได้อีกด้วย แม้ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์จะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ค้นพบวิธีการทันสมัยในการรักษาโรค แต่การใช้ยาสมุนไพรก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไดรับการยอมรับ อีกทั้งยังมีการกำหนดให้มีสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานขึ้น เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับประชาชนในการเลือกใช้สมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สมุนไพรจะเป็นสิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติ แต่ก็สามารถ
ก่อให้เกิดอันตราย จากการใช้ได้หากบุคคลไม่มีความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้ ทั้งในแง่ของคุณประโยชน์และวิธีการใช้เพื่อให้สมุนไพรเกิดประสิทธิภาพในการรักษาและเกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งคอลัมน์นี้ Adminจะมาแนะนำให้รู้จักสมุนไพรในเบื้องต้น ก่อนนะคะ
1. ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมุนไพร
                                             ความหมายของสมุนไพร
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึงพืชที่ใช้ทำเป็น
เครื่องยาสมุนไพรกำเนิดมาจากธรรมชาติและมีความหมายต่อชีวิติมนุษย์ โดยเฉพาะในทางสุขภาพ อันหมายถึง ทั้ง การส่งเสริมสุขภาพและการรักษาโรค
ความหมายของยาสมุนไพรในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ได้ระบุว่า ยาสมุนไพร หมายความว่า “ยาที่ได้จากพฤกษาชาติสัตว์หรือแร่ธาตุ ซึ่งมิได้ผสมปรุงหรือแปรสภาพ” เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ฯลฯ ซึ่งมิได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใดๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในทางการค้า สมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ เช่น ถูกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กลง บดเป็นผงละเอียด หรืออัดเป็นแท่ง
อาจกล่าวได้ว่า สมุนไพร (Medicinal Plant or Herb) หมายถึง “ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ และแร่ ซึ่งยังมิได้ผสมปรุง หรือ แปรสภาพ และใช้เพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการเจ็บป่วย”
                                               “สมุนไพร 3 ต.”
รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่
แผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ 4 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งท่านอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ให้นโยบายด้านสมุนไพร คือ “รู้จัก เชื่อมั่น ชอบใช้”
เรามารู้จักสมุนไพร 3 ต. ตัวที่ 1 กันนะคะ นั่นคือ
                                     “ต. ต้นสมุนไพร ประจำบ้าน”
1. กะเพราแดง
สรรพคุณ : ใบกระเพรา มีรสเผ็ดร้อน แก้ปวดท้อง ท้องอืด แก้ลมจุกเสียดแน่นท้อง ขับลม ทำให้เรอเหมาะสำหรับเด็ก
วิธีเตรียม : ใช้ใบกะเพรา 1 กำมือ/25 กรัม (ใบแห้งหนัก 4 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม นอกจากนี้แล้วยังนำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้ด้วย
2. ขิง
สรรพคุณ : ขิง มีรสเผ็ดร้อนหวาน บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่นจุกเสียด ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากอาการเมารถ เมาเรือ
**ขิงเป็นยาขับลม เพราะมีน้ำมันหอมระเหย นอกจากนี้พบว่าสารที่มีรสเผ็ด ทำให้ลำไส้เพิ่ม การเคลื่อนไหว จึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง
วิธีเตรียม : ใช้เหง้าแก่สด ขนาดเท่าหัวแม่มือ /ประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ผงขิงแห้งชงน้ำดื่มและยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น ไก่ผัดขิง มันต้มขิง เต้าฮวยน้ำขิง
**ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเพื่อแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาการจุกเสียดแน่นท้อง
เมื่อมีอาการท้องอืดรุนแรงมาก พร้อมกับอาการท้องแข็ง ปวดท้องมาก อาจเป็นอาการของโรค ที่อันตรายอื่นๆ เช่น โรคกระเพาะอาหารทะลุ โรคของถุงน้ำดี โรคตับ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน
3. ตะไคร้
สรรพคุณ : ตะไคร้ มีรสปร่า กลิ่นหอม ขับลมในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร ขับปัสสาวะ
วิธีเตรียม : ใช้ลำต้นและเหง้าแก่สดๆ (ล้างให้สะอาด) ประมาณ 1 กำมือ /40-60 กรัม ทุบพอแหลก ต้มกับน้ำประมาณครึ่งลิตร เอาน้ำดื่มต่างน้ำ *เมื่อมีอาการท้องอืด
หรือจะหั่นซอยบางๆ กับใบเตย ตากแห้ง นำมาคั่วไฟอ่อนๆให้หอม แล้วชงน้ำร้อนจิบเป็นชาดื่ม ช่วยเรื่องขับลม และขับปัสสาวะ
4. ช้าพลู
สรรพคุณ : ใบช้าพลูมีรสเผ็ดเล็กน้อย ช่วยเจริญอาหาร ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ
วิธีเตรียม : นำช้าพลูทั้ง 5 (คือ ทั้งต้นจนถึงราก) 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน รับประทานครั้งละ ครึ่งแก้วกาแฟ ก่อนอาหาร 3 มื้อ **ช้าพลูเป็นผักพื้นบ้าน คนนิยมนำ ใบมาทานสด
5. บัวบก
สรรพคุณ : บัวบก มีรสเฝื่อน ขมเย็น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ลม แก้อ่อนเพลียเมื่อยล้า เป็นยา บำรุงและยาอายุวัฒนะ *ตำรายาไทย ใช้บัวบกเป็นยาแก้ไข้ ร้อนใน แก้ช้ำใน ใช้เป็นยาภายนอก รักษาแผล ทำให้แผลหายเร็ว (ในทางความงาม ใช้น้ำคั้นพอกหน้ารักษาสิวอักเสบได้)
วิธีเตรียม : ใบสด 1 กำมือ/10-20 กรัม ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน      1 – 2 วัน สำหรับรักษาอาการผิดปกติของหลอดเลือดดำ
หรือจะใช้ใบสด 1 กำมือ ตำพอกแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือนำมารับประทานเป็นผักสดๆ  บำรุงสมอง ** ห้ามดื่มน้ำใบบัวบกเกิน 1 กำมือ/วัน เพราะจะทำให้มีอาการเจ็บคอ และมีไข้
6. ฟ้าทะลายโจร
สรรพคุณ : มีรสขม ช่วยบรรเทาอาการไข้ บรรเทาอาการเจ็บคอ เบาเทาอาการของโรคหวัด
วิธีเตรียม : ใช้ใบสด (ใบกลางอ่อนกลางแก่) 3-5 ใบ เคี้ยวแล้วกลืน รับประทาน 3 เวลาก่อน อาหาร หรือ นำใบสด ประมาณ 1 หยิบมือไปต้ม กับน้ำสะอาด 1 แก้ว รับประทาน 3 เวลาก่อนอาหาร **ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเย็น ห้ามรับประทานติดต่อกันเกิน 7 วัน
สำหรับผู้ที่มีอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ **ห้ามสตรีมีครรภ์ มารดาให้นมบุตรและผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร รับประทาน
7. มะกรูด
สรรพคุณ : มีรสเปรี้ยว ผิวมะกรูดแก้อาการหน้ามืด วิงเวียน น้ำมะกรูด แก้ไอ ขับเสมหะ และใช้บำรุงผม
วิธีเตรียม : ใช้ใบมะกรูดหรือผิวมะกรูดขยี้ หรือตำ พอหยาบ นำมาดมแก้อาการวิงเวียนศีรษะ
ใช้ผลมะกรูด : ผ่าครึ่งลูกปิ้งไฟให้สุก ผ่าซีกแล้วนำมาสระผม ทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม แก้รังแค แก้คันหนังศีรษะ
8. มะระขี้นก
สรรพคุณ : มีรสขมจัด แก้ไข้ แก้ร้อนใน ช่วยเจริญอาหาร ผลอ่อน ใช้รับประทานเป็นยาเจริญอาหารโดยต้มให้สุกรับประทานกับน้ำพริกก็ได้
วิธีเตรียม : น้ำคั้นสด 8-10 ผล เอาเมล็ดออก ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย ปั่นคั้นเอาแต่น้ำให้ได้ครั้งละประมาณ 100 มิลลิลิตร รับประทานวันละ 3 เวลาก่อนอาหารทุกวัน
ข้อควรระวัง : ห้ามรับประทานผลสุกสีเหลือง เพราะจะทำให้มี อาการคลื่นไส้อาเจียน
9. ว่านหางจระเข้
สรรพคุณ : วุ้นของว่านหางจระเข้ มีรสเย็นจืด รักษาแผลไฟไหม้ นำร้อนลวก
วิธีเตรียม : ใช้วุ้นจากใบล่างสุดของต้น ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางให้สะอาดด้วยนำต้มสุกหรือน้ำด่างทับทิม ขูดเอาวุ้นใสมาพอกบริเวณแผล ให้ชุ่มชื้นตลอดเวลา ทันทีที่โดนในชั่วโมงแรก จากนั้น ทาวันละ 3-4 ครั้ง จนแผลหาย ช่วยให้แผลหายเร็ว ลดการเกิดแผลเป็น
10. สระแหน่
สรรพคุณ : บรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด ขับลม
วิธีเตรียม : นำมาปรุงรสอาหารไทยจำพวกยำ ลาบ ต้มยำ นำไปแต่งหน้าเครื่องดื่มบางชนิด และใช้เป็นส่วนผสมของไอศกรีม

                                              ต.ที่ 2 “ยาสมุนไพร ประจำตู้ยา”
กลุ่มที่ 1 : อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
ใช้ยา : ขมิ้นชัน
บรรเทาอาการ : แน่นท้อง จุกเสียดท้องอืด ท้องเฟ้อ
กลุ่มที่ 2 : อาการท้องผูก
ใช้ยา : ยามะขามแขก
บรรเทาอาการ : ท้องผูก
กลุ่มที่ 3 : อาการท้องเสีย
ใช้ยา : ยาเหลืองปิดสมุทร
บรรเทาอาการ : ท้องเสีย แบบไม่รุนแรง
กลุ่มที่ 4 : อาการไข้
ใช้ยา : ยาจันทลีลา
บรรเทาอาการ : ไข้เปลี่ยนฤดู ไข้ปวดศีรษะ ไข้ทับระดู
กลุ่มที่ 5 : อาการลม วิงเวียน
ใช้ยา : ยาหอมเทพจิตร
บรรเทาอาการ : แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด คลื่นไส้ ตาพร่ามัว
กลุ่มที่ 6 : อาการไอ
ใช้ยา : ยาน้ำแก้ไอมะขามป้อม
บรรเทาอาการ : แก้ไอ ขับเสมหะ
กลุ่มที่ 7 : อาการเจ็บคอ
ใช้ยา : ยาฟ้าทะลายโจร
บรรเทาอาการ : เจ็บคอ
กลุ่มที่ 8 : อาการริดสีดวงทวารหนัก
ใช้ยา : ยาผสมเพชรสังฆาต
บรรเทาอาการ : ริดสีดวงทวารหนัก
กลุ่มที่ 9 : อาการปวดประจำเดือน
ใช้ยา : ประสะไพล
บรรเทาอาการ : ปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
กลุ่มที่ 10 : อาการผื่นคัน
ใช้ยา : คาลาไมน์พญายอ (ยาใช้ภายนอก)
บรรเทาอาการ : ผื่นคัน
กลุ่มที่ 11 : อาการปวดเมื่อย
ใช้ยา : ครีมไพล/บาล์มไพล (ยาใช้ภายนอก)
บรรเทาอาการ : ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
กลุ่มที่ 12 : อาการแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ใช้ยา : เจลว่านหางจระเข้
บรรเทาอาการ : แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
                                                  ต. ที่ 3 คือ “ยาสมุนไพร ประจำตัว”
ยาอมแก้ไอ : บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
ยาหม่องไพลแท่ง : บรรเทาอาการปวดเมื่อย ตามร่างกาย
ยาดม : บรรเทาอาการวิงเวียน ทำให้สดชื่น ผ่อนคลายช
ยาหอมเทพจิตร : แก้ลม บำรุงหัวใจ
**หมายเหตุ : หากเป็นโรค/อาการที่กล่าวในเบื้องต้นให้ใช้สมุนไพรที่แนะนำ และหยุดใช้เมื่อหายไป แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ภายใน 2-3 วัน ควรไปปรึกษาศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาล
การใช้สมุนไพรนั้น มีทั้ง ข้อดีและข้อเสียในการใช้สมุนไพร นะคะ!
ข้อดี
1) สมุนไพรที่เรานำมาใช้ในการบำบัดทำให้เกิดพิษจากการใช้ได้น้อย มีผล
ข้างเคียงที่น้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน
2) สมุนไพรที่ใช้ในการบำบัดโรคมีความจำเป็นในภาวะที่ขาดแคลนได้ และเป็น
ที่พึ่งของคนในชนบทที่อยู่ห่างไกล
3) สมุนไพรที่นำมาบำบัดรักษาโรคมีราคาค่อนข้างถูก จึงช่วยให้ประหยัด
ค่าใช้จ่าย
ข้อเสีย
1) ยุ่งยากในการเตรียม ขั้นตอนในการเตรียมมีความสลับซับซ้อน ทำให้ไม่สะดวก
และเสียเวลาในการเตรียมยาสมุนไพร
2) สมุนไพรที่นำมาบำบัดรักษาโรคนั้นมักเห็นผลช้ากว่ายาแผนปัจจุบัน และ
สมุนไพร มีฤทธิ์อ่อน กว่ายาแผนปัจจุบัน
3) การออกฤทธิ์ของยาสมุนไพรนั้น ไม่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัย หลาย
ประการ เช่น ฤดูกาล ความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น
อาการแพ้สมุนไพรและแนวทางการแก้ไข
สมุนไพรมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับยาทั่วไป คือมีทั้งคุณและโทษ                                                    ซึ่งอาการแพ้สมุนไพรนั้นสามารถสังเกตจากอาการผิดปกตต่างๆ ต่อไปนี้
1) ผื่นขึ้น ตามผิวหนัง อาจเป็นตุ่มเล็กๆ ตุ่มโตๆ เป็นปื้น หรือเม็ดแบนคล้าย
ลมพิษ อาจบวมที่ตา (ตาปิด) หรือริมฝีปาก (ปากเจ่อ) หรือมีเพียงดวงสีแดงที่ผิวหนัง
2) เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง) ถ้ามีอยู่ก่อนกินยา อาจ
เป็นเพราะโรค
3) หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง
4) ประสาทรับความรู้สึก ทำงานไวเกินปกติ เช่น เพียงแตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บ
ลูบผม ก็รู้สึกแสบหนังศีรษะ
5) ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อยๆ
6) ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง เขย่าเกิดฟองสีเหลือง (เป็นอาการของ
ดีซ่าน) อาการนี้แสดงถึงอันตรายร้ายแรง **ต้องรีบไปพบแพทย์
                                แนวทางการแก้ไขเมื่อมีอาการแพ้สมุนไพร คือ
1) ถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้น ควรหยุดใช้สมุนไพรนั้น
2) หากหยุดแล้วอาการหายไป อาจทดลองใช้ยาอีกครั้งโดยระมัดระวัง ถ้าอาการ
เช่นเดิมเกิดขึ้นอีก แสดงว่าเป็นพิษของยาสมุนไพร ควรหยุดยาและเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น
3) ถ้าอาการแพ้รุนแรงควรไปรับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์
อาการเจ็บป่วยที่ไม่ควรใช้สมุนไพรในการรักษา
โรคหรืออาการดังกล่าวให้ใช้สมุนไพรที่แนะนำ และเมื่ออาการหายไปก็หยุดใช้
แต่ถ้าอาการยังไมดีขึ้น ใน 2-3 วัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
                          อาการที่ไม่ควรรักษาด้วยการซื้อยารับประทานเองหรือใช้สมุนไพร ได้แก่
1) ไข้สูง ตัวร้อนจัด ตาแดง ปวดเมื่อยมากซึ่งเพราะอาจเป็นอาการของไข้หวัดใหญ่
2) ไข้สูงและดีซ่าน อ่อนเพลียมาก อาจเจ็บแถวชายโครง เพราะอาจเป็นอาการ
ของโรคตับอักเสบ
3) ปวดแถวสะดือ เวลาเอามือกดจะเจ็บปวดมากขึ้น หน้าท้องแข็ง เพราะอาจ
เป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบ
4) เจ็บแปลบในท้องคล้ายมีอะไรฉีกขาด ปวดท้องรุนแรงมาก คลื่นไส้ อาเจียน
บางทีมีประวัติปวดท้องบ่อยๆ เพราะอาจเป็นอาการของกระเพาะอาหารทะลุ
5) อาเจียนเป็นเลือดหรือไอเป็นเลือด เพราะอาจเป็นอาการของเลือดออกจาก
กระเพาะอาหาร หลอดอาหารหรือปอด
6) ท้องเดินอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นน้ำ บางทีเป็นลักษณะน้ำซาวข้าว
อ่อนเพลียมากตาลึกผิวหนังแห้ง ต้องพาไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นอาการของโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง
7) ถ่ายอุจจาระเป็นมูกและเลือด ถ่ายบ่อยมาก คนไข้เพลียมาก เพราะอาจเป็น
อาการของโรคบิดรุนแรง
8) สำหรับเด็ก ถ้ามีอาการไข้สูง ไอมาก หายใจมีเสียงผิดปกติ คล้ายกับมีอะไรติด
อยู่ในคอ บางทีมีอาการหน้าเขียวด้วย ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นอาการ ของโรคคอตีบ
9) อาการตกเลือดเป็นเลือดสดๆจากทางไหนก็ตาม โดยเฉพาะทางช่องคลอด
ต้องพา ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นอาการจากการฉีกขาดของอวัยวะภายใน
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาการ / โรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร
                        กลุ่มอาการ / โรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร ได้แก่ โรคร้ายแรง โรคเรื้อรัง หรือโรคที่
ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด บาดทะยัก กระดูกหัก มะเร็ง วัณโรค กามโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเรื้อน ดีซ่าน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดบวม (ปอดอักเสบ) อาการบวม ไทยฟอยด์ โรคตาทุกชนิด
2. หลักเบื้องต้นในการใช้สมุนไพร
การใช้สมุนไพรเพื่อดูแลรักษาโรคหรืออาการขั้นพื้นฐานแม้จะมีความปลอดภัยในการ
ใช้รักษากว่ายาแผนปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรในการปรุงยาสมุนไพรก็มีข้อควรระวังด้วย เช่นกัน เพราะบางคนที่ใช้สมุนไพรชนิดเดียวกันอาจจะไม่แพ้ บางคนอาจจะแพ้ ดังนั้นการปรุงยา สมุนไพรใช้เองในครอบครัว การใช้สมุนไพรจึงควรยึดหลักการง่ายๆ คือ
2.1 ใช้ให้ถูกต้น พืชสมุนไพรมีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละภาคหรือท้องถิ่น ต้น
เหมือนกัน เรียกชื่อต่างกัน ต้นต่างกันมีเรียกชื่อเหมือนกัน การจะนำมาใช้ทำยา ต้องปรึกษาผู้รู้เกี่ยวกับต้นไม้ ผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักพฤกษศาสตร์ หมอแผนโบราณ หมอพื้นบ้าน เป็น ต้น
2.2 ใช้ให้ถูกส่วน พืชสมุนไพรแต่ละชนิดตามตำราหรือจากหมอพื้นบ้านใช้สืบต่อ
กันมา ใช้ส่วนที่มาทำเป็นยาไม่เหมือนกัน เช่น ตามตำราบอกว่าใช้ราก ใช้ใบ ใช้ดอก ใช้ผล ต้องนำส่วนที่เป็นยามาใช้ให้ตรง เพราะฤทธิ์ของยาในส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรมีฤทธิ์ทางยาไม่เท่ากัน
2.3 ใช้ให้ถูกขนาด การนำสมุนไพรมาใช้ต้องคำนึงถึงขนาดของสมุนไพร เช่น หนัก
กี่บาท หนักกี่กรัม ควรจะนำมาใช้ให้ถูกต้อง ถ้าขนาดของยามากไปอาจจะเป็นอันตราย น้อยไป ก็จะทำให้รักษาไม่ได้ผล
2.4 ใช้ให้ถูกวิธี ตามตำราระบุไว้ให้ใช้สด ต้มดองเหล้า หรือ ชง ให้สกัดน้ำมัน ให้ทำ
เป็นขี้ผึ้งการทำเป็นลูกกลอน การพอก ต้องใช้ให้ถูกวิธี
2.5 ใช้ให้ถูกกับโรค การใช้ให้ถูกกับโรค เช่น เป็นไข้ก็ใช้ยาแก้ไข้ ท้องเสียใช้
สมุนไพร ที่มีฤทธิ์ฝาดสมาน ท้องผูก ใช้สมุนไพรมีฤทธิ์ช่วยระบาย
นอกจากหลักการเบื้องต้นที่กล่าวมานี้ ยังต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาด
การเก็บยา การเตรียมยา และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำยาจะต้องสะอาดด้วย

..พบกันใหม่คอลัมน์หน้านะค่ะ สวัสดีค่ะ! (Admin ttmApple)…

ใส่ความเห็น